เทคโนโลยีชีวภาพทางวิทยาการสืบพันธุ์เพื่อการปศุสัตว์

เทคโนโลยี ชีวภาพทางวิทยาการสืบพันธุ์ หรือ Biotechnology คือ เทคนิคการนำสิ่งแวดล้อม หรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิตมาพัฒนาเพื่อการปรับปรุงพืช สัตว์ หรือผลิตภัณฑ์อาหาร เพื่อประโยชน์เฉพาะตามที่มนุษย์ต้องการ ในการผลิตและปรับปรุงพันธุ์สัตว์ ได้นำเทคโนโลยีชีวภาพทางวิทยาการสืบพันธุ์  มาใช้ ซึ่งหมายถึง การใช้วิธีการทางชีววิทยาเพื่อผลิตลูกหลานเพิ่มขึ้น

จุดประสงค์ของการใช้เทคโนโลยีชีวภาพทางวิทยาการสืบพันธุ์ มีประโยชน์หลายประการดังนี้
1. เพื่อปรับปรุงพันธุกรรมให้รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. ช่วยย่นระยะเวลาในการปรับปรุงและทดสอบพันธุ์
3. ช่วยป้องกันโรคเข้ามาในประเทศ และออกจากประเทศ
4. ช่วยในการรักษาพันธุกรรมของสัตว์หายากและใกล้สูญพันธุ์
5. เพื่อแก้ไขปัญหาการผสมติดยากซึ่งเกิดจากความล้มเหลวในการปฏิสนธิ
6. เป็นเทคนิคพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่ก้าวหน้ามาก  เช่น การโคลนนิ่งสัตว์ (cloning)
7. ใช้ในงานวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ งานวิจัยทางสัตวแพทย์ เภสัชกรรม และการแพทย์

วิวัฒนาการของเทคโนโลยีชีวภาพทางวิทยาการสืบพันธุ์ในการผลิตและปรับปรุงพันธุ์สัตว์ มีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ แบ่งออกเป็น 4 ยุค ดังนี้
ยุคที่ 1 การผสมเทียม (Artificial  Insemination : AI)
เป็นเทคโนโลยีชีวภาพทางวิทยาการสืบพันธุ์รุ่นแรกที่นำมาใช้แพร่หลายมากที่สุด ซึ่งถือเป็นพื้นฐานของการนำเทคโนโลยีชีวภาพเข้ามาใช้ในวงการปศุสัตว์  มีจุดประสงค์เพื่อเผยแพร่พันธุกรรมในสายพ่อพันธุ์ การผสมเทียมได้เริ่มในปศุสัตว์ (farm animal) การผสมเทียมในแกะและโคเจริญก้าวหน้ามาก หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ประเทศต่างๆ ได้ประจักษ์ถึงคุณประโยชน์ของการผสมเทียมในการปรับปรุงและขยายพันธุ์สัตว์ ได้เริ่มงานผสมเทียมขึ้นใหม่ทั่วโลก ซึ่งในยุคนี้ได้เริ่มมีการผสมเทียมในสุกร ไก่งวง ไก่ และกระบือ

ยุคที่ 2 การย้ายฝากตัวอ่อน (Embryo Transfer : ET)
เป็นเทคโนโลยีที่มุ่งปรับปรุงในสายแม่พันธุ์ โดยนำตัวอ่อนจากแม่สัตว์ตัวให้ ไปฝากในสัตว์ตัวรับ เพื่อให้ตั้งท้องแทนซึ่งแม่สัตว์ตัวให้ตัวหนึ่งสามารถผลิตตัว อ่อนได้เป็นจำนวนมาก ทำให้สามารถเพิ่มสัตว์พันธุ์ดีได้เป็นจำนวนมาก และปรับปรุงพันธุ์ได้เร็วกว่าการผสมเทียม เทคโนโลยีการย้ายฝากตัวอ่อนได้พัฒนามาแล้กว่า 20 ปี ด้วยข้อจำกัดด้านต้นทุนค่อนข้างสูงและประสิทธิผล ทำให้การย้ายฝากตัวอ่อนไม่แพร่หลายกว้างเท่ากับการผสมเทียม

ยุคที่ 3 การแยกเพศตัวอ่อน การปฏิสนธินอกร่างกาย  การโคลนนิ่ง
เป็น เทคโนโลยีที่ได้มีการพัฒนามาพร้อมๆ กันประมาณ 10 ปี ที่ผ่านมา โดยอาศัยพื้นฐานจากเทคโนโลยีในยุคที่ 1 และ2 ได้มีการพัฒนาขึ้นในหลายประเทศในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกาเหนือ  ทวีปออสเตรเลีย  รวมทั้งประเทศญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทยได้มีการพัฒนาขึ้นแล้ว

ยุคที่ 4 การถ่ายฝากยีนส์
เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงต้องอาศัยเทคโนโลยียุคที่ 1, 2 และ 3 เป็นพื้นฐาน จุดมุ่งหมายของการถ่ายฝากยีนส์เพื่อสร้างสายพันธุ์ใหม่ ที่มีลักษณะทางพันธุกรรมที่ดีเด่น เช่น ให้ผลผลิตน้ำนม และเนื้อสูง ความต้านทานโรคดี อัตราการแลกเนื้อและการเจริญเติบโตดี ทั้งนี้เนื้อสัตว์ที่เกิดจากการถ่ายฝากยีนส์ เรียกว่า transgenic animal เทคโนโลยีการถ่ายฝากยีนส์ได้มีการพัฒนาขึ้นแล้วในสัตว์ทดลอง แต่ยังไม่ถึงขั้นนำไปปฏิบัติใช้ในสัตว์เศรษฐกิจสำหรับประเทศไทยได้เริ่มมี การศึกษาบ้างแล้ว

วิวัฒนาการงานผสมเทียมในประเทศไทย
กรมปศุสัตว์ได้เริ่มงานผสมเทียมโค ภายหลังที่นายสัตวแพทย์ ดร.ทศพร  สุทธิคำ ได้กลับจากการศึกษาอบรมที่ศูนย์อบรมนานาชาติครั้งที่ 1 จัดขึ้นโดย FAO  ภายใต้การอำนวยการของ ศาสตราจารย์ นิลล์ ลาเกอร์ลอฟ ระหว่างปี พ.ศ. 2497 – 2498  ในที่สุดศาสตราจารย์ นิลล์ ลาเกอร์ลอฟ ได้แนะนำให้เริ่มงานผสมเทียมขึ้นในท้องที่ 2 แห่งคือที่จังหวัดเชียงใหม่ และกรุงเทพฯ ซึ่งมีการเลี้ยงโคนมมาก หลังจากนั้นได้มีการสั่งซื้ออุปกรณ์ผสมเทียมที่จำเป็นจากประเทศสวีเดน และอินเดีย มาดำเนินการรีดเก็บน้ำเชื้อพ่อโคพันธุ์บราวน์สวิส ซึ่งคัดเลือกมาจากสถานีบำรงพันธุ์สัตว์ของกรมปศุสัตว์