ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกต่างให้ความสนใจต่อความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศพัฒนา ที่มีความเข้มงวดในการนำเข้าเนื้อสัตว์จากต่างประเทศ โดยได้กำหนดระเบียบการเลี้ยงสัตว์ตามหลักสวัสดิภาพสัตว์เพื่อให้ได้เนื้อสัตว์ที่มีคุณภาพดีปลอดภัยต่อการบริโภคและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนั้นหลักสวัสดิภาพสัตว์นี้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ได้เนื้อสัตว์ที่ดีมีคุณภาพ ปลอดภัย ปลอดสาร และปราศจากการทรมานสัตว์แล้ว ยังถือเป็นการช่วยตอกย้ำศักยภาพการส่งออกเนื้อสัตว์ของไทยให้ทัดเทียมนานาประเทศทั่วโลกและสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศอีกด้วย โดย
– สัตว์ที่เลี้ยงมีอิสระจากความหิว กระหาย และการให้อาหารที่ไม่ถูกต้อง
– มีอิสระจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาวะแวดล้อม
– มีอิสระจากความเจ็บปวด การบาดเจ็บ หรือเป็นโรค โดยมีระบบการป้องกันโรคที่ดี หรือ การจับไก่ในแต่ละครั้งเป็นไปอย่างนุ่มนวล การใช้อุปกรณ์อย่างเหมาะสม พื้นที่การเลี้ยงที่สอดคล้องกับธรรมชาติของสัตว์
– มีอิสระจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน ด้วยสภาวะการเลี้ยงดูที่ไม่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานทางจิตใจ เช่น ระหว่างการจับไก่ก่อนการเข้าโรงเชือด
– มีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามปกติของสัตว์ คือ มีอิสระการเป็นอยู่อย่างธรรมชาติ และมีความสบายตามชนิดของสัตว์นั้นๆซึ่งครอบคลุมในทุกส่วนของการเลี้ยงสัตว์
ดังนั้น เพื่อให้การเลี้ยงสัตว์เป็นไปอย่างถูกหลักอนามัยจะต้องเริ่มตั้งแต่การเลี้ยงในฟาร์ม ซึ่งต้องให้น้ำและอาหารอย่างพอเพียงตลอดเวลา พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ไม่หนาแน่น สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระ มีสัตวแพทย์และสัตวบาลดูแลสุขภาพสัตว์อย่างสม่ำเสมอ สภาพแวดล้อมภายในโรงเรือน เช่น อุณหภูมิ ความชื้น การระบายอากาศ ต้องเหมาะสมและเพียงพอต่อการดำรงชีพของสัตว์ตลอดเวลา การขนส่ง ภาชนะที่ใช้ในการขนส่งสัตว์จะต้องดีและเหมาะสม ไม่ก่อให้เกิดอันตรายขณะขนส่งและความหนาแน่นของสัตว์ในขณะขนส่งจะต้องไม่มากเกินกว่าที่กำหนด ในส่วนของโรงงานแปรรูป จะต้องจอดพักในบริเวณที่เหมาะสมและสบายสำหรับตัวสัตว์ เพื่อลดความเครียดของสัตว์ ทุกขั้นตอนการแปรรูปต้องเป็นไปอย่างนุ่มนวลโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญและผ่านการฝึกอบรมด้านสวัสดิภาพสัตว์